มิได้มุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น

มิได้มุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นในคดีล้มละลาย
ลูกหนี้ได้เปิดบัญชีกระแสรายวัน ระหว่างอายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี อันเป็นระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลายและภายหลังนั้นลูกหนี้ได้นำเงินเข้าบัญชีและเบิกถอนออกจากบัญชีไป ปัญหามีว่าการกระทำของลูกหนี้ดังกล่าวเป็นการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้โดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นหรือไม่ ในระหว่างอายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ลูกหนี้สามารถนำเงินเข้าฝากเพื่อหักทอนบัญชีและเบิกถอนต่อไปได้อันเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด การที่ลูกหนี้นำเงินเข้าบัญชีจึงมีลักษณะเป็นการลดหนี้ลงชั่วคราวแล้วเบิกเงินใหม่ซึ่งกระทำตลอดเวลาของอายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและไม่เป็นการชำระหนี้ทีเดียวเสร็จสิ้นกันไปเลย และเจ้าหนี้ไม่ทราบมาก่อนว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว การนำเงินเข้าบัญชีของลูกหนี้จึงเป็นการชำระหนี้เพื่อก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นอันเป็นวิธีการเพื่อจะเบิกเงินจากเจ้าหนี้ได้มากยิ่งขึ้นตามประเพณีธนาคารในเรื่องบัญชีเดินสะพัดเท่านั้นการกระทำของลูกหนี้จึงมิได้มุ่งหมายให้เจ้าหนี้ได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นแม้ได้กระทำในระยะเวลาสามเดือนก่อนและหลังฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3919/2535

ลูกหนี้เปิดบัญชีกระแสรายวัน โดยทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับผู้คัดค้านในวงเงิน 1,000,000 บาท ในระหว่างสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลาย ภายหลังนั้นลูกหนี้นำเงินเข้าบัญชีให้แก่ผู้คัดค้าน เป็นเงิน 791,197 บาท และเบิกเงินออกจากบัญชีไป390,760 บาท การนำเงินเข้าบัญชีของลูกหนี้มีลักษณะเป็นการลดยอดหนี้ชั่วคราวแล้วเบิกเงินใหม่ ซึ่งได้กระทำตลอดเวลาของอายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี และไม่เป็นการชำระหนี้ทีเดียวให้เสร็จสิ้นกันไปเลย จึงเป็นการชำระหนี้เพื่อก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นอันเป็นวิธีการเพื่อจะเบิกเงินจากผู้คัดค้านได้มากยิ่งขึ้นตามประเพณีธนาคารในเรื่องบัญชีเดินสะพัดเท่านั้น การกระทำของลูกหนี้จึงมิได้มุ่งหมายให้ผู้คัดค้าน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 แต่อย่างใด.

คดีสืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2531 โจทก์ฟ้องลูกหนี้(จำเลย) ขอให้ล้มละลาย และต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ตามทางสอบสวนของผู้ร้องปรากฏว่าลูกหนี้ได้เปิดบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 989 กับผู้คัดค้านสาขาทับสะแก ต่อมาวันที่ 22 ธันวาคม 2520 ลูกหนี้ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีในวงเงิน 1,000,000 บาท ระหว่างวันที่ 9ธันวาคม 2530 ถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2531 อันเป็นระยะเวลาภายใน 3 เดือนก่อนและหลังฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลาย ลูกหนี้ได้นำเงินเข้าบัญชีชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายหนึ่งรวม 50รายการ (ที่ถูกเป็น 51 รายการ) เป็นเงิน 791,197 บาท โดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ซึ่งคดีนี้มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ 5 ราย เป็นเงิน 4,483,655.51 บาท ผู้ร้องรวบรวมเงินเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้ได้เพียง 1,000,000 บาทเศษ ขอให้เพิกถอนการชำระหนี้ของลูกหนี้ดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 115 และให้ผู้คัดค้านชดใช้เงิน 791,197 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า การที่ลูกหนี้นำเงินเข้าบัญชีเป็นเพียงวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการเดินสะพัดทางบัญชีตามปกติของธนาคารเนื่องจากลูกหนี้ได้ทำสัญญาเงินเกินบัญชีกับผู้คัดค้านตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2520 มีการนำเงินเข้าฝากบัญชีและเบิกถอนตลอดจนต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเรื่อยมา การที่ลูกหนี้นำเงินเข้าฝากบัญชีนั้น มีลักษณะเป็นการลดหนี้ลงชั่วคราว แล้วเบิกถอนเงินใหม่มีจำนวนรวมกันสูงกว่าเงินที่ลูกหนี้นำเข้าบัญชีตลอดมา การนำเงินเข้าฝากบัญชีของลูกหนี้เป็นวิธีการที่จะเบิกเงินจากผู้คัดค้านให้มากขึ้น หาใช่เป็นการชำระหนี้ทีเดียวเสร็จสิ้นไม่แต่เป็นการชำระหนี้เพื่อก่อหนี้ขึ้นใหม่เพิ่มขึ้นอีกหลายครั้งหลายคราว ดังนั้น การกระทำของลูกหนี้จึงไม่เป็นการมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น อีกทั้งผู้คัดค้านมิได้เข้าไปเกี่ยวข้องรู้เห็นเกี่ยวกับกิจการของลูกหนี้ จึงไม่อาจทราบถึงภาวะการมีหนี้สินล้นพ้นตัวของลูกหนี้ได้ ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านนำสืบรับกันว่า ลูกหนี้ได้เปิดบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 989โดยทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีผ่านบัญชีดังกล่าวกับผู้คัดค้าน สาขาทับสะแก ในวงเงิน 1,000,000 บาท ตามเอกสารหมาย ร.1 ระหว่างอายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2530 ถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2531 อันเป็นระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลายและภายหลังนั้นลูกหนี้ได้นำเงินเข้าบัญชีให้แก่ผู้คัดค้านสาขาทับสะแก 51 รายการ รวมเป็นเงิน 791,197 บาทและเบิกถอนออกจากบัญชีไป 390,760 บาท ตามเอกสารหมาย ร.2ปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องมีว่าการกระทำของลูกหนี้ดังกล่าวเป็นการชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้านโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้คนหนึ่งได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นหรือไม่ เห็นว่า คดีปรากฏจากคำเบิกความของนายน้อย สมใจรักษ์ และนายมนูญ สอนเสริม พยานผู้ร้องว่าในการดำเนินกิจการของลูกหนี้นั้น ลูกหนี้ใช้เงินทุนจากการกู้มาจากผู้คัดค้านด้วยโดยทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีในวงเงิน1,000,000 บาท และเปิดบัญชีกระแสรายวันไว้โดยมีการเบิกถอนและนำเงินเข้าบัญชีหักทอนกันเพื่อจะเบิกถอนต่อไปภายในวงเงินดังกล่าว ซึ่งในระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2530 ถึงวันที่ 24 พฤษภาคม2531 ก็เช่นเดียวกันคือมีทั้งการนำเงินเข้าบัญชีและเบิกถอนออกจากบัญชีด้วยและปรากฏว่าลูกหนี้เป็นหนี้ผู้คัดค้าน สาขาทับสะแกเพียงประมาณ 600,000 บาท ซึ่งก็ยังอยู่ในวงเงินที่ลูกหนี้ยังเบิกถอนต่อไปได้อันเจือสมกันกับคำเบิกความของนายวิริยะเปรมปราโมทย์ พยานผู้คัดค้าน นอกจากนี้นายน้อยพยานผู้ร้องยังเบิกความยืนยันว่า หลังจากเปิดบัญชีกระแสรายวันและทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแล้ว ได้มีการนำเงินเข้าฝากและถอนอยู่เป็นประจำและก่อนสัญญาครบกำหนดมีการต่ออายุสัญญากันทุกปี ดังนี้แสดงว่าในระหว่างอายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ลูกหนี้สามารถนำเงินเข้าฝากเพื่อหักทอนบัญชีและเบิกถอนต่อไปได้อันเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด การที่ลูกหนี้นำเงินเข้าบัญชีจึงมีลักษณะเป็นการลดหนี้ลงชั่วคราวแล้วเบิกเงินใหม่ซึ่งกระทำตลอดเวลาของอายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและไม่เป็นการชำระหนี้ทีเดียวเสร็จสิ้นกันไปเลย ทั้งที่ตามสัญญาผู้คัดค้านสามารถเรียกให้ชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนได้ทางนำสืบของผู้ร้องก็ยังไม่พอฟังว่าผู้คัดค้านได้ทราบก่อนแล้วว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว โดยลูกหนี้ได้ไปกู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้รายอื่นด้วย แม้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ระบุให้ลูกหนี้ต้องแจ้งให้ผู้คัดค้านทราบและต้องได้รับอนุญาตจากผู้คัดค้านก่อนก็ตาม นายวิริยะพยานผู้คัดค้านก็เบิกความปฏิเสธว่าผู้คัดค้านเพิ่งทราบหลังจากลูกหนี้ถูกฟ้องล้มละลายโดยผู้ร้องแจ้งให้ทราบ การนำเงินเข้าบัญชีของลูกหนี้จึงเป็นการชำระหนี้เพื่อก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นอันเป็นวิธีการเพื่อจะเบิกเงินจากผู้คัดค้านได้มากยิ่งขึ้นตามประเพณีธนาคารในเรื่องบัญชีเดินสะพัดเท่านั้นการกระทำของลูกหนี้จึงมิได้มุ่งหมายให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115แต่อย่างใดที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน.
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
มาตรา 115 การโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใดๆ ซึ่งลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น โดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหรือการกระทำนั้นได้
ถ้าเจ้าหนี้ผู้ได้เปรียบเป็นบุคคลภายในของลูกหนี้ ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหรือการกระทำตามวรรคหนึ่งที่ได้กระทำขึ้นในระหว่างระยะเวลาหนึ่งปีก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ