ใครมีสิทธิบอกเลิกสัญญาซื้อขาย

คู่สัญญาทำสัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ผู้ซื้อวางเงิน 200.000 บาท เพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา ถ้าสัญญาสิ้นสุด ให้คืนเงินดังกล่าว และยังมีข้อตกลงว่าทางฝ่ายผู้ขายมีหน้าที่ขอใบอนุญาตขึ้นทะเบียนการใช้ฉลากผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยมิได้กำหนดระยะเวลาให้แล้วเสร็จเมื่อใด  เมื่อผู้ซื้อเห็นว่า ผู้ขายไม่ชำระหนี้ (ขอใบอนุญาต) ก็บอกกล่าวให้ผู้ขายชำระหนี้ภายในเวลาสมควรกำหนดได้ ถ้าถึงกำหนดแล้ว ผู้ขายยังไม่ขอใบอนุญาต ผู้ซื้อก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ แต่การที่ผู้ซื้อได้บอกเลิกสัญญาโดยมิได้กำหนดระยะเวลาจึงไม่ต้องด้วยบทกฎหมายและไม่มีผลให้สัญญาระงับสินไป แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า เมื่อผู้ขายได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา ผู้ขายยังได้ตอบหนังสือว่าตกลงเลิกสัญญา แต่ไม่คืนเงิน 200.000 บาทนั้น เป็นผลมาจากผู้ซื้อผิดสัญญา ชอบที่จะบอกเลิกสัญญาโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และเห็นว่า เงิน 200.000 บาท เป็นเงินประกันการที่ผู้ซื้อจะต้องปฏิบัติตามสัญญาจึงเป็นเงินมัดจำตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อผู้ซื้อผิดสัญญาผู้ขายย่อมริบเงิน 200.000 บาทนั้นได้ สิทธิบอกเลิกสัญญาของผู้ซื้อไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3946/2553

          โจทก์ทำสัญญาซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมไคโตซานและวางเงินจำนวน 200,000 บาท แก่จำเลยเพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา โดยสัญญาข้อ 4 ระบุว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องขอใบอนุญาตขึ้นทะเบียนการใช้ฉลากผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาให้แก่โจทก์ แต่ไม่ได้กำหนดเวลาว่าจำเลยต้องขอใบอนุญาตให้แล้วเสร็จเมื่อใด จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องขอใบอนุญาตดังกล่าวให้แก่โจทก์โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยโดยไม่ได้บอกกล่าวให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาภายในเวลาที่โจทก์กำหนดเสียก่อน จึงไม่เป็นผลให้สัญญาระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 ทั้งหลังจากโจทก์บอกเลิกสัญญาเพียงสิบวัน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก็ออกใบสำคัญการใช้ฉลากอาหารให้แก่โจทก์แล้ว การกระทำของโจทก์จึงเป็นการบิดพลิ้วไม่ปฏิบัติตามสัญญาและมีผลให้โจทก์ตกเป็นผู้ผิดสัญญา การที่จำเลยมีหนังสือตอบกลับไปยังโจทก์ว่า จำเลยตกลงสนองรับการบอกเลิกสัญญาโดยไม่ยอมคืนเงินจำนวน 200,000 บาท ให้ เนื่องจากโจทก์ยังเป็นหนี้จำเลยอยู่เป็นจำนวนมากนั้น ถือไม่ได้ว่าจำเลยตกลงเลิกสัญญาโดยไม่มีเงื่อนไข แต่เป็นการที่จำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์ อันเป็นผลมาจากการที่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญาเสียก่อน เมื่อโจทก์มอบเงินให้แก่จำเลยในวันทำสัญญาเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญาจึงมีผลเป็นมัดจำ จำเลยย่อมริบเงินจำนวนดังกล่าวนั้นได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2)
________________________________

          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 288,750 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

          จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้ง ขอให้บังคับให้โจทก์ชำระค่าเสียหายแก่จำเลยจำนวน 290,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

          โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและยกฟ้องแย้ง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
          โจทก์อุทธรณ์

        ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 กันยายน 2542 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2548 และดอกเบี้ยอัตราเดียวกันนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 88,750 บาท ตามที่โจทก์ขอ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

          จำเลยฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ทำสัญญาซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมไคโตซานจากจำเลย โจทก์ได้วางเงินจำนวน 200,000 บาท ไว้แก่จำเลยเพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา ทั้งนี้ โจทก์กับจำเลยตกลงกันว่าเมื่อสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นสุดลง หรือคู่กรณีตกลงเลิกสัญญาจำเลยต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ นอกจากนี้จำเลยยังตกลงว่าจำเลยมีหน้าที่ขอใบอนุญาตขึ้นทะเบียนการใช้ฉลากผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาให้แก่โจทก์ ตามสัญญาซื้อขาย

          คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยต้องคืนเงิน 200,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามที่จำเลยฎีกาหรือไม่ ศาลฎีกาได้ตรวจดูสัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมระหว่างโจทก์กับจำเลย เห็นว่า แม้ข้อ 4 ในสัญญาฉบับนั้น จะระบุว่าจำเลยมีหน้าที่ขอใบอนุญาตขึ้นทะเบียนการใช้ฉลากผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาให้แก่โจทก์ก็ตาม แต่มิได้กำหนดเวลาว่าจำเลยต้องขอใบอนุญาตให้แล้วเสร็จเมื่อใด จึงต้องถือว่าจำเลยมีหน้าที่ไปติดต่อขอใบอนุญาตให้แก่โจทก์โดยพลัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 วรรคหนึ่ง อย่างไรก็ตามปัญหาว่าหนี้ที่จำเลยต้องชำระให้แก่โจทก์ถึงกำหนดชำระเมื่อไรเป็นคนละเรื่องกันกับปัญหาที่ว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 บัญญัติว่า “ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ ถ้าและฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ไซร้ อีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาเสียก็ได้” เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า สัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยมิได้กำหนดเงื่อนเวลาที่จำเลยต้องขอใบอนุญาตขึ้นทะเบียนการใช้ฉลากผลิตภัณฑ์อาหารเสริมให้แก่โจทก์ หากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญากับจำเลย โจทก์ย่อมมีหน้าที่ปฏิบัติให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 กล่าวคือ โจทก์ต้องบอกกล่าวให้จำเลยยื่นคำขอใบอนุญาตต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาภายในเวลาที่โจทก์กำหนด หากจำเลยยังเพิกเฉยไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว โจทก์จึงจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้ การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยโดยมิได้บอกกล่าวให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาภายในเวลาที่โจทก์กำหนดเสียก่อน จึงขัดแย้งกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอย่างเห็นได้ชัด การบอกเลิกสัญญาของโจทก์ไม่เป็นผลให้สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยระงับสิ้นไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า หลังจากที่โจทก์บอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยแล้ว จำเลยได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยตกลงเลิกสัญญาด้วย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงมีความเห็นว่า จำเลยแสดงเจตนาสนองรับการบอกเลิกสัญญาของโจทก์ ซึ่งเป็นผลให้สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นสุดลงนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา เพราะหนังสือที่จำเลยมีไปถึงโจทก์มีข้อความระบุชัดว่าจำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา แม้จะมีข้อความบางตอนมีใจความว่าจำเลยตกลงสนองรับการบอกเลิกสัญญาของโจทก์ แต่ก็มีข้อความในตอนต่อมาว่าจำเลยไม่ยินยอมคืนเงินจำนวน 200,000 บาท ให้แก่โจทก์เนื่องจากโจทก์ยังเป็นหนี้จำเลยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยตกลงเลิกสัญญากับโจทก์โดยไม่มีเงื่อนไขอันเป็นผลให้สัญญาซื้อขายระงับไป ตรงกันข้ามการที่โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 7 กันยายน 2542 บอกเลิกสัญญาไปยังจำเลย ทั้งที่หลังจากนั้นอีกเพียงสิบวันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก็ออกใบสำคัญการใช้ฉลากอาหารให้แก่จำเลยแล้วจึงเป็นการบิดพลิ้วไม่ปฏิบัติตามสัญญาของโจทก์ อันเป็นการผิดสัญญาดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย อนึ่ง การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยย่อมเป็นการแสดงให้เห็นว่าโจทก์ประสงค์จะให้นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นสุดลง ดังนั้น การที่จำเลยมีหนังสือไปถึงโจทก์ตอบรับว่าจำเลยตกลงเลิกสัญญาด้วย แต่ขอริบเงิน 200,000 บาท ที่โจทก์วางเป็นประกันในการปฏิบัติตามสัญญา จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์อันเป็นผลมาจากการที่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ซึ่งจำเลยชอบที่จะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้ โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญาเสียก่อน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นอันเลิกกัน ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่า เมื่อสัญญาเลิกกันแล้วโจทก์กับจำเลยต่างต้องยอมให้แต่ละฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลย ข้อ 7 จะระบุว่าโจทก์วางเงิน 200,000 บาท ไว้แก่จำเลยเป็นค่าค้ำประกันสัญญาก็ตามแต่เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377 บัญญัติว่า “เมื่อเข้าทำสัญญาถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ ท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว อนึ่ง มัดจำนี้ย่อมเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย” จึงเห็นได้ว่าเงิน 200,000 บาท ที่โจทก์มอบให้แก่จำเลยในวันทำสัญญาเป็นค่าค้ำประกันสัญญาย่อมเป็นประกันการที่โจทก์ต้องปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวด้วย อันมีผลเป็นมัดจำตามที่กฎหมายบัญญัติ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์เพราะโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยย่อมริบเงินจำนวนนั้นได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378 ที่บัญญัติว่า “มัดจำนั้นถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นท่านให้เป็นไปดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
            (1) ...
            (2) ให้ริบถ้าฝ่ายที่วางมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้... หรือถ้ามีการเลิกสัญญาเพราะความผิดของฝ่ายนั้น...” ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 200,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

( กำพล ภู่สุดแสวง - ยงยุทธ สุเรนทร์รังสิกุล - ธัชพันธ์ ประพุทธนิติสาร )
ศาลแขวงนนทบุรี - นายจีระวงศ์ เชาวน์วรนันท์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 - นางกฤษณี เยพิทักษ์
 _____________________________________________________    
มาตรา 203    ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้นั้นมิได้กำหนดลงไว้หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลันและฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน

ถ้าได้กำหนดเวลาไว้ แต่หากกรณีเป็นที่สงสัย ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้ก่อนถึงเวลานั้นหาได้ไม่แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนกำหนดนั้นก็ได้

มาตรา 377    เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว อนึ่งมัดจำนี้ย่อมเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย

มาตรา 378    มัดจำนั้น ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นท่านให้เป็นไปดั่งจะกล่าวต่อไปนี้คือ
(1) ให้ส่งคืนหรือจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนในเมื่อชำระหนี้
(2) ให้ริบ ถ้าฝ่ายที่วางมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนั้นต้องรับผิดชอบหรือถ้ามีการเลิกสัญญาเพราะความผิดของฝ่ายนั้น
(3) ให้ส่งคืน ถ้าฝ่ายที่รับมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนี้ต้องรับผิดชอบ

มาตรา 387    ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ถ้าและฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ไซร้อีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาเสียก็ได้

มาตรา 391    เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้วคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดั่งที่เป็น อยู่เดิมแต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่

ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดั่งกล่าวมาในวรรคต้นนั้น ท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยคิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้

ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้นการที่จะชดใช้คืน ท่านให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการ นั้นๆหรือถ้าในสัญญามีกำหนดว่าให้ใช้เงินตอบแทนก็ให้ใช้ตามนั้น

การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ