ผู้จัดการมรดก | บิดาไม่ชอบด้วยกฎหมาย

บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก แม้ผู้ตายเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 ก็ตาม แต่ผลของบทกฎหมายดังกล่าวเพียงแต่ให้ถือว่าบุตรผู้ตายเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและมีสิทธิได้รับมรดกของบิดาเท่านั้น หาได้มีผลทำให้บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายและมีสิทธิได้รับมรดกของบุตรผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรมไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1625/2550

ผู้คัดค้านที่ 1 มิได้จดทะเบียนสมรสกับผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาของผู้ตาย และไม่ได้อยู่กินฉันสามีภริยากันก่อนมีการบังคับใช้ ป.พ.พ. บรรพ 5 ซึ่งใช้บังคับโดย พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477 ผู้คัดค้านที่ 1 จึงเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย แม้ผู้ตายเป็นบุตรนอกกฎหมายที่ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับรองแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 ก็ตาม แต่ผลของบทกฎหมายดังกล่าวเพียงแต่ให้ถือว่าผู้ตายซึ่งเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิได้รับมรดกของบิดาเท่านั้น หาได้มีผลทำให้บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิได้รับมรดกของบุตรในฐานะทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 ด้วยไม่ เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตาย จึงไม่มีสิทธิคัดค้านหรือร้องขอต่อศาลให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และไม่อาจฎีกาโต้แย้งว่าพินัยกรรมเป็นพินัยกรรมปลอมหรือไม่มีผลบังคับได้

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของ ต. ตามพินัยกรรม ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่า พินัยกรรมที่ผู้ร้องอ้างเป็นพินัยกรรมปลอมเพราะลายมือชื่อในช่องผู้ทำพินัยกรรมไม่ใช่ลายมือชื่อของผู้ตายและไม่ได้ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด จึงใช้บังคับไม่ได้ การที่ผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกาว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมในขณะที่ไม่มีสติสัมปชัญญะ ซึ่งผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ได้ยกขึ้นโต้เถียงเป็นประเด็นไว้ในคำคัดค้าน จึงเป็นการฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งมิใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามมิให้ฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

พินัยกรรมของผู้ตายมีข้อกำหนดให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก และ ป.พ.พ. มาตรา 1713 วรรคท้าย ก็บัญญัติให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามเจตนาของผู้ตาย แม้ผู้คัดค้านที่ 2 จะเป็นมารดาและทายาทของผู้ตายก็ไม่มีเหตุที่จะตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านทำนองเดียวกันโดยขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องและมีคำสั่งตั้ง ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายสุเมธ ผู้ร้อง เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ให้ยกคำคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า นายต่อศักดิ์ ผู้ตาย เป็นบุตรของผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส ผู้ตายมีบุตร 2 คน คือ นางสาวแสงระวี และนายชัยฤทธิ์ ผู้ร้องเป็นลูกพี่ลูกน้องกับผู้ตาย ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2541 ที่โรงพยาบาลศรีสยาม มีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินมีโฉนด 1 แปลง เงินฝากในธนาคาร 2 แห่ง แห่งละ 1 บัญชี นอกจากนี้ยังมีทรัพย์สินอื่น

ปัญหาตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองที่ว่า พินัยกรรมที่พิพาทซึ่งทำขึ้นเป็น 2 ฉบับ ระบุว่าผู้ตายทำพินัยกรรมยกที่ดินมีโฉนด 1 แปลง และเงินฝากในธนาคาร 2 แห่ง แห่งละ 1 บัญชี ให้แก่นางสาวแสงระวีแต่ผู้เดียว ส่วนทรัพย์สินอื่นให้ตกแก่ทายาทโดยธรรมทุกคนของผู้ตาย และตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกนั้น เป็นพินัยกรรมปลอมและไม่มีผลบังคับตามกฎหมายหรือไม่ และมีเหตุสมควรตั้งผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ เห็นว่า ในส่วนของผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้คัดค้านที่ 1 มิได้จดทะเบียนสมรสกับผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาของผู้ตาย และผู้คัดค้านที่ 1 มิได้อ้างหรือนำสืบว่า ผู้คัดค้านที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้คัดค้านที่ 2 ก่อนมีการบังคับใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ซึ่งได้ใช้บังคับโดยพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477 จึงต้องฟังว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ผู้คัดค้านที่ 1 จะแสดงออกโดยเปิดเผยว่าผู้ตายเป็นบุตร ยอมให้ผู้ตายใช้ชื่อสกุล และมีพฤติการณ์อื่นเพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้ตายเป็นบุตรนอกกฎหมายที่ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับรองแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 ก็ตาม แต่ผลของบทกฎหมายดังกล่าวเพียงแต่ให้ถือว่าบุตรนั้นเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย มีสิทธิได้รับมรดกของบิดาเท่านั้น หาได้มีผลทำให้บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิได้รับมรดกของบุตรในฐานะทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 ด้วยไม่ ผู้คัดค้านที่ 1 จึงมิใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตาย ไม่มีสิทธิคัดค้านหรือร้องขอต่อศาลให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และไม่อาจฎีกาโต้แย้งว่าพินัยกรรมพิพาทเป็นพินัยกรรมปลอมหรือไม่มีผลบังคับได้

ส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกาว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมในขณะที่ไม่มีสติสัมปัชญญะนั้น ผู้คัดค้านที่ 2 มิได้ยกขึ้นโต้เถียงเป็นประเด็นไว้ในคำคัดค้าน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นฎีกาในข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

เมื่อพินัยกรรมของผู้ตายมีข้อกำหนดให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก อีกทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 วรรคท้าย ก็บัญญัติให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกตามข้อกำหนดพินัยกรรม จึงสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามเจตนาของผู้ตายที่ได้แสดงไว้ในพินัยกรรม รูปคดีไม่มีเหตุสมควรตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
( ชัชลิต ละเอียด - บุญรอด ตันประเสริฐ - เฉลิมเกียรติ ชาญศิลป์ )
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ป.พ.พ. มาตรา 1627, 1629, 1713 วรรคท้าย
มาตรา 1627 บุตรนอกกฎหมาย ที่บิดาได้รับรองแล้ว และ บุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่า เป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตร ที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามความหมาย แห่งประมวลกฎหมายนี้
มาตรา 1629 ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับ แห่ง มาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดั่ง ต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้สืบสันดาน
(2) บิดามารดา
(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
(5) ปู่ ย่า ตา ยาย
(6) ลุง ป้า น้า อา

มาตรา 1713 ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ในกรณีดั่งต่อไปนี้
(1) เมื่อเจ้ามรดกตาย ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมได้สูญหายไปหรืออยู่นอกราชอาณาเขตหรือเป็นผู้เยาว์
(2) เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการหรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการหรือในการแบ่งปันมรดก
(3) เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้ไม่มีผลบังคับได้ด้วยประการใด ๆ
(วรรคสอง)การตั้งผู้จัดการมรดกนั้นถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม และถ้าไม่ข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์ และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดกแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ