การนำสืบพยานเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร

การนำสืบพยานเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร
การนำสืบเพื่อพิสูจน์ว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ใด โฉนดที่ดินออกโดยไม่ถูกต้องหรือไม่? การออกเอกสารสิทธิชอบหรือไม่ ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดง จึงสามารถนำสืบพยานบุคคลได้ไม่ต้องห้าม มิใช่การนำสืบเพิ่มเติม ตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 944/2546

ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ว. นำที่ดินพิพาทของโจทก์ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยไม่ชอบ และ ว. ไม่ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท การที่ ว. นำไปขายให้จำเลยทั้งสอง แม้จำเลยทั้งสองจะซื้อและจดทะเบียนการซื้อขายโดยสุจริตก็หามีสิทธิในที่ดินพิพาทไม่ เพราะผู้ซื้อต้องรับไปเพียงสิทธิของผู้ขายเท่านั้นเมื่อ ว. ผู้ขายไม่มีสิทธิ จำเลยทั้งสองย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทด้วย

การนำสืบเพื่อพิสูจน์ว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ใด การออกเอกสารสิทธิที่พิพาทชอบหรือไม่ ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดง อีกทั้งมิใช่การนำสืบเพิ่มเติม ตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร จึงสามารถนำสืบพยานบุคคลได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 เพียงให้เป็นข้อสันนิษฐานไว้เท่านั้น อสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดิน ผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ดังนั้นจึงสามารถนำสืบข้อเท็จจริงหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้

คำขอท้ายฟ้องโจทก์ขอให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนโฉนดที่ดินพิพาทเป็นชื่อของโจทก์ แต่มีข้อความต่อไปว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ด้วย ข้อความดังกล่าวย่อมชัดแจ้งว่า เป็นเพียงการพิมพ์ผิดเท่านั้น ที่ถูกโจทก์ต้องการให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ แต่พิมพ์ผิดเป็นจำเลยที่ 2 โจทก์หาได้ประสงค์ให้จำเลยที่ 2 โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ไม่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษาให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการจึงไม่เกินคำขอ

โฉนดที่ดินออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์จะมิได้ขอให้ศาลเพิกถอน ศาลก็ชอบที่จะพิพากษาให้เพิกถอนได้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินมิได้บังคับแก่ผู้ที่มีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินซึ่งเป็นบุคคลภายนอก แต่เป็นการบังคับเฉพาะคู่ความในคดีเท่านั้น ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดที่ดินได้

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ตำบลห้วยใต้ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ เนื้อที่ประมาณ 3 งาน 46 ตารางวา เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ของโจทก์ ซึ่งโจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์มาหลายสิบปีแล้ว เมื่อเดือนกันยายน 2537 จำเลยทั้งสองบุกรุกเข้าทำนาในที่ดินพิพาท อ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 1 ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 17457 โจทก์จึงไปตรวจสอบที่สำนักงานที่ดินอำเภอขุขันธ์ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ขอออกโฉนดที่ดินพิพาทเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายโจทก์เสียหายไม่สามารถทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทตามโฉนดที่ดินเลขที่ 17457 ตำบลห้วยใต้ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง และให้ส่งมอบที่ดินพิพาทคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นชื่อโจทก์ หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทแก่โจทก์ไปดำเนินการเอง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ1,000 บาท นับแต่ปี 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบที่ดินพิพาทคืนโจทก์

จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์แต่เป็นของผู้มีชื่อซึ่งได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1078 หากมีการบุกรุกผู้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นผู้บุกรุกเข้าแย่งการครอบครองเกิน 1 ปีแล้วฟ้องโจทก์ขาดอายุความ จำเลยที่ 1 ได้ซื้อที่ดินพิพาทจากผู้มีชื่อโดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อปี 2539 ถือว่าได้มาโดยสุจริต และได้เข้าครอบครองนับแต่นั้นมา ต่อมาได้นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ไปเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินการออกโฉนดที่ดินชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทเป็นที่สวนไม่สามารถทำนาได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจเรียกค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ห้ามโจทก์และบริวารเข้าเกี่ยวข้อง

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1)เลขที่ 101 ของโจทก์ทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1078 ให้แก่โจทก์ แต่เนื้อที่ไม่ครบ ส่วนที่ขาดคือที่ดินพิพาทโดยทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ในส่วนที่ดินพิพาทเป็นชื่อของนายวาน แพงมาก เลขที่ 1078 เช่นเดียวกับของโจทก์ นายวานไม่เคยครอบครองที่ดินพิพาท ที่ดินที่นายวานครอบครองและขายให้แก่จำเลยทั้งสอง คือส่วนที่อยู่ติดกับที่ดินพิพาททางด้านทิศใต้ ก่อนเกิดเหตุคดีนี้จำเลยทั้งสองไม่เคยเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเนื้อที่ 3 งาน 46 ตารางวา ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 17457 ตำบลห้วยใต้ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป กับให้เพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าว และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ1,000 บาท นับแต่ปี 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะออกไปจากที่ดินพิพาท ยกฟ้องแย้งจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ไปยื่นคำขอเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 17457 ตำบลห้วยใต้ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 3 งาน 46 ตารางวา เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 101 ซึ่งเป็นของโจทก์มีเนื้อที่รวม 2 ไร่ ตามเอกสารหมาย จ.4 มีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยโดยอาศัยพยานหลักฐานนอกสำนวนหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาอ้างว่าพยานโจทก์ทุกปาก เว้นแต่เจ้าพนักงานที่ดินเบิกความว่าการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เมื่อปี 2541 นั้นถูกต้อง การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ของนายวาน แพงมาก เป็นการออกโดยไม่ถูกต้องเป็นการวินิจฉัยผิดไปจากพยานหลักฐานในสำนวนหรือนอกเหนือจากสำนวนนั้น เห็นว่า การวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวอาศัยพยานหลักฐานตามที่ปรากฏอยู่ในสำนวน ส่วนจะเชื่อพยานฝ่ายใดย่อมเป็นดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน หาใช่การวินิจฉัยโดยอาศัยพยานหลักฐานนอกสำนวนหรือผิดจากพยานหลักฐานในสำนวนไม่ ฎีกาจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น จำเลยทั้งสองฎีกาข้อต่อไปว่าที่มีการนำสืบพยานบุคคลว่า โฉนดที่ดินเลขที่ 17457 ออกโดยไม่ถูกต้องเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 เห็นว่า การนำสืบเพื่อพิสูจน์ว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ใด การออกเอกสารสิทธิที่พิพาทชอบหรือไม่ ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดง อีกทั้งมิใช่การนำสืบเพิ่มเติม ตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร จึงสามารถนำสืบพยานบุคคลได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94ฎีกาจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปว่าการที่จำเลยทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตและจดทะเบียนการซื้อขายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว จำเลยทั้งสองจะต้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ นายวานนำที่ดินพิพาทของโจทก์ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยไม่ชอบ และนายวานไม่ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท นายวานจึงไม่ใช่ผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาท การที่นายวานนำที่ดินพิพาทไปขายให้จำเลยทั้งสอง แม้จำเลยทั้งสองจะซื้อและจดทะเบียนการซื้อขายโดยสุจริต จำเลยทั้งสองก็หามีสิทธิในที่ดินพิพาทไม่ เพราะผู้ซื้อต้องรับไปเพียงสิทธิของผู้ขายเท่านั้น เมื่อนายวานผู้ขายไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสองผู้ซื้อจึงย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทด้วย ฎีกาจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปว่า การที่ที่ดินพิพาททางราชการได้ออกโฉนดแล้วตามโฉนดที่ดินเลขที่ 17457 ซึ่งตามโฉนดจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงต้องเป็นเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท เห็นว่า ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ดังที่จำเลยทั้งสองอ้างในฎีกา กฎหมายเพียงให้เป็นข้อสันนิษฐานไว้เท่านั้นว่า อสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดิน ผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 ดังนั้นจึงสามารถนำสืบข้อเท็จจริงหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้ ฎีกาจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองเป็นข้อสุดท้ายว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาเกินคำขอหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์ขอให้จำเลยที่ 2 ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ไปยื่นคำขอเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทจึงเกินคำขอนั้น เห็นว่า แม้ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์จะขอให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนโฉนดที่ดินพิพาทเป็นชื่อของโจทก์ก็ตาม แต่ก็มีข้อความต่อไปว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ด้วย จากข้อความดังกล่าวย่อมชัดแจ้งว่า เป็นเพียงการพิมพ์ผิดเท่านั้น ที่ถูกโจทก์ต้องการให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ แต่พิมพ์ผิดเป็นจำเลยที่ 2 โจทก์หาได้ประสงค์ให้จำเลยที่ 2 โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ไม่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงไม่เกินคำขอ ฎีกาจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

อนึ่งที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ผู้มีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบ คือผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อคดีนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดมิได้เป็นคู่ความ ศาลมิอาจพิพากษาให้มีผลบังคับถึงบุคคลภายนอกคดีได้ คงพิพากษาได้เพียงให้จำเลยที่ 1 ไปยื่นคำขอเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทเท่านั้น เห็นว่า เมื่อปรากฏว่าโฉนดที่ดินเลขที่ 17457ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์จะมิได้ขอให้ศาลเพิกถอน ศาลก็ชอบที่จะพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบนั้นได้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินมิได้บังคับบุคคลภายนอกดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เข้าใจ แต่เป็นการบังคับเฉพาะคู่ความในคดีนี้เท่านั้น ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดที่ดินได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย จึงสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
( มานะ ศุภวิริยกุล - วิรัช ลิ้มวิชัย - สดศรี สัตยธรรม )

ป.พ.พ. มาตรา 1373
มาตรา 1373 ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง
ป.วิ.พ. มาตรา 94, 142
มาตรา 94 เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดั่งต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี
(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนำเอกสาร มาแสดง
(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อ ได้นำเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติมตัดทอน หรือ เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก
แต่ว่าบทบัญญัติแห่ง มาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ ใน อนุมาตรา (2) แห่ง มาตรา 93 และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความ ในอันที่จะกล่าวอ้างและนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่า พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอม หรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้น ไม่สมบูรณ์หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด
มาตรา 142 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่ชี้ขาดคดีต้องตัดสิน ตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อ แต่ห้ามมิให้พิพากษาหรือคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่
(1) ในคดีฟ้องเรียกอสังหาริมทรัพย์ ให้พึงเข้าใจว่าเป็นประเภท เดียวกับฟ้องขอให้ขับไล่จำเลย ถ้าศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีเมื่อ ศาลเห็นสมควรศาลจะมีคำสั่งให้ขับไล่จำเลยก็ได้ คำสั่งเช่นว่านี้ให้ใช้ บังคับตลอดถึงวงศ์ญาติทั้งหลายและบริวารของจำเลยที่อยู่บน อสังหาริมทรัพย์นั้น ซึ่งไม่สามารถแสดงอำนาจพิเศษให้ศาลเห็นได้
(2) ในคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์ใด ๆ เป็นของตนทั้งหมด แต่ พิจารณาได้ความว่าโจทก์ควรได้แต่ส่วนแบ่ง เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ได้รับแต่ส่วนแบ่งนั้นก็ได้
(3) ในคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ชำระเงิน พร้อมด้วยดอกเบี้ยจนถึง วันฟ้อง เมื่อศาลเห็นสมควรศาลจะพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ย จนถึงวันที่ได้ชำระเสร็จตามคำพิพากษาก็ได้
(4) ในคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเช่าหรือค่าเสียหายอันต่อเนื่อง คำนวณถึงวันฟ้อง เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะพิพากษาให้ชำระค่า เช่าและค่าเสียหายเช่นว่านี้ จนถึงวันที่ได้ชำระเสร็จตามคำพิพากษา ก็ได้
(5) ในคดีที่อาจยกข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ของประชาชนขึ้นอ้างได้นั้นเมื่อศาลเห็นสมควรศาลจะยกข้อเหล่านั้น ขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปก็ได้
(6) ในคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ชำระเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ย ซึ่งมิได้มี ข้อตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยกันไว้ เมื่อศาลเห็นสมควรโดยคำนึง ถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดี ศาล จะพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นกว่าที่โจทก์มีสิทธิ ได้รับตามกฎหมาย แต่ไม่เกินร้อยละสิบห้าต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้อง หรือวันอื่นหลังจากนั้นก็ได้

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ